เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เสี่ยบอยเปิดใจกับสื่อมวลชนว่าไม่มีหน้ากากอนามัย 200 ล้านอันอย่างที่อ้าง ไม่ได้จบแค่การแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เท่านั้น ตำรวจและกรมการค้าภายใน ยังลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อ หลังพบว่าโรงงานย่านมีนบุรีมีสต๊อกหน้ากากอนามัยเก็บไว้ถึง 500,000 ชิ้น ส่วนเรื่องของเสี่ยบอย ก็เตรียมส่งเรื่องให้ ปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ไปติดตามจากรายงาน
แม้ว่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จะจบเรื่องคดีของ “เสี่ยบอย” ที่โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า สามารถจัดหาหน้ากากอนามัยได้ 200 ล้านชิ้น ที่ทำให้สังคมเกิดความสับสนและตื่นตระหนก ตรงที่ตำรวจ ปอท. นำตัว เสี่ยบอย ไปแจ้งข้อหาฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และปล่อยตัวไปกลางดึก แต่การดำเนินคดีไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะชุดสืบสวนยังลงพื้นที่ค้นหาความจริงกันต่อ ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคลิปวิดีโอ หรือภาพนิ่งที่เสี่ยบอยนำไปโพสต์
หนึ่งในนั้นคือการไปตรวจสอบโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยย่านมีนบุรี ที่วานนี้ตำรวจไปติดตามคำชี้แจง หลังจากที่พบมีการเก็บหน้ากากอนามัยไว้ในโกดัง 500,000 อัน และทางโรงงานอ้างว่าเก็บไว้เตรียมส่งขายให้กับร้านขายยา 3,000-4,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลจากตำรวจที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยดังกล่าว ทางโรงงานยืนยันว่าไม่รู้จักกับเสี่ยบอยมาก่อน และไม่รู้ว่าเหตุใดจึงมีกล่องสินค้าของทางโรงงานไปปรากฎอยู่ในคลิปวิดีโอไลฟ์สดของเสี่ยบอย และยังให้ข้อมูลอีกว่า ตามปกติแล้วกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยของทางโรงงานอยู่ที่วันละ 500,000 อัน มีโควตาส่งให้กระทรวงพาณิชย์ 150,000 อันต่อสัปดาห์ ส่งให้บริษัทการบินไทย 120,000 อันต่อสัปดาห์ และองค์การเภสัชกรรม 50,000 อันต่อสัปดาห์ ส่วนที่เหลือก็ส่งไปให้ลูกค้าที่เป็นร้านขายยาทั่วประเทศ ยืนยันมีใบอนุญาตการผลิตถูกต้องจากกรมการค้าภายใน ซึ่งข้อมูลที่ว่านี้ ตำรวจได้ส่งต่อให้กับกรมการค้าภายในนำไปตรวจสอบต่อแล้ว
ส่วนบริษัทเอกชนย่านหนองแขม ที่อ้างว่ามีการส่งขายหน้ากากอนามัยให้กับทางการจีน ในช่วงที่มีการระบาดโรคโควิด-19 ระยะแรก ๆ ก็จะมีการเรียกมาสอบสวนว่าที่ผ่านมาดำเนินการไปอย่างไรบ้าง
นอกจากทั้ง 2 จุดนี้ ตำรวจยังมีแผนจะเรียกสอบปากคำพยานอีกหลายคน หนึ่งในนั้นคือ นายพิตตินันท์ รักเอียด อดีตคณะทำงานของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะถูกสอบในประเด็นความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเสี่ยบอย นอกจากนี้ จะมีการประสานกับ ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงินของเสี่ยบอย ว่ามีการทำธุรกรรมการเงินที่เข้าข่ายผิดปกติน่าสงสัยหรือไม่ คาดว่าจะทราบผลอย่างเร็วที่สุดใน 3-4 วัน
ส่วนเรื่องที่พบภาพไลฟ์สดพัวพันไปถึงนักแสดง 2 คน ซึ่ง 1 ในนั้นก็คือ พีท ทองเจือ วานนี้ พีท ทองเจือ ได้ไปที่ สน.ปทุมวัน เพื่อลงบันทึกประจำวันยืนยันว่าตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับเสี่ยบอย และไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการกักตุนหน้ากากอนามัยด้วย
ขณะที่ตำรวจนครบาลฝากประชาสัมพันธ์ให้เห็นโทษทางกฎหมาย กรณีการกักตุนหน้ากากอนามัย หรือกระทำผิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากเป็นการขายสินค้าด้อยคุณภาพ หรือผิดฐานฉ้อโกง โทษต่ำสุดคือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ส่วนอัตราโทษสูงสุด คือกรณีการกักตุนสินค้าควบคุม โทษคือจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท
นอกจากนี้ยังประชาสัมพันธ์ไปถึงกรณีการซื้อสินค้าออนไลน์ ต้องระมัดระวังตัวอย่างไรบ้าง เช่น ก่อนจะซื้อสินค้าใด ๆ ควรมีการตรวจสอบดูให้ดีว่าผู้ขายถูกขึ้นบัญชีโกงไว้หรือไม่, รีวิวการซื้อขายสินค้าเป็นอย่างไร, ถ้าเป็นไปได้ควรนัดรับสินค้าจากผู้ขายโดยตรง, ไม่ควรสั่งซื้อปริมาณมาก ๆ และหากโชคร้ายสั่งซื้อสินค้าไปแล้วไม่ได้รับของ ก็ควรรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ เช่น ภาพเพจ เว็บไซต์, บทสนทนาสั่งซื้อสินค้า, รายละเอียดต่าง ๆ นำไปแจ้งความกับตำรวจในพื้นที่ที่มีการตกลงซื้อขายสินค้า หรือโอนเงินไปให้ และต้องทำภายใน 3 เดือน ทันทีที่รู้ว่าไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลง