พ.ต.อ.ธรากร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และผู้บริโภคจำนวนมาก ว่าได้ซื้อเครื่องสำอางแบรนด์ดังผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่เมื่อใช้แล้วพบว่าเป็นเครื่องสำอางปลอมและด้อยคุณภาพ จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าผิดกฎหมายดังกล่าว
พบบ้านเช่าที่มีชาวเวียดนามเช่าเป็นแหล่งเก็บเครื่องสำอางปลอมและด้อยคุณภาพจำนวนมาก โดยทำการโฆษณาขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในราคาที่ถูกมากกว่าปกติ ต่อมาในวันที่ 14 มีนาคม 2565 กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับ อย. นำหมายค้นศาลอาญาพระโขนง เข้าค้นสถานที่เก็บสินค้า ในพื้นที่แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ โดยพบหญิงชาวเวียดนาม (สงวนชื่อนามสกุลจริง) แสดงตนเป็นผู้ดูแลบ้านหลังดังกล่าว จากการตรวจสอบ บ้านหลังนี้ใช้เป็นสถานที่เก็บและแพ็คบรรจุผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางส่งให้กับลูกค้า จึงทำการตรวจยึดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ต้องสงสัยว่าผลิตภัณฑ์ปลอมรวมกว่า 18 ยี่ห้อดัง มูลค่ากว่า 70,000,000 บาท เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พ.ต.อ.ธรากร เผยอีกว่า เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากภาษาไทย, ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง และ จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมปลอม ทั้งนี้ ขอประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ถึงการซื้อสินค้าทางออนไลน์ ให้ทำการตรวจสอบก่อน เนื่องจากทุกวันนี้คนร้ายได้ปรับราคาให้มีความใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จริงมากขึ้น
ขณะที่ พ.ต.อ.เนติ เปิดเผยว่า เครือข่ายนี้เป็นการร่วมมือกัน เบื้องต้นทราบตัวผู้กระทำความผิด 5 คน โดยมีนายทุนชาวเวียดนามซึ่งอาศัยอยู่ต่างประเทศ
เป็นตัวการใหญ่ และมีชาวไทยเป็นผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้า จากการสืบสวนเส้นทางการเงิน พบว่ามีจำนวนเงินหมุนเวียนกว่า 119 ล้านบาท โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพและให้การเป็นประโยชน์ ส่วนตัวผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าจากประเทศจีน นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ผลิตภัณฑ์ปลอมยังมีการรีวิวสินค้าเพื่อสร้างความน่าเชื่อถืออีกด้วย คาดว่าเครือข่ายทำมาแล้วเป็นเวลา 6 เดือน
ด้าน นพ.วิทิต กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ปลอมเหล่านี้เมื่อใช้แล้วจะมีอาการผิดปกติ เช่น ผื่นขึ้น จึงได้ร่วมกับ บก.ปคบ. ในการสืบหาผู้กระทำผิด โดยผู้กระทำผิดได้ทำการปลอมเว็บไซต์เครื่องสำอางค์ และขายในราคาถูก หรือมีโปรโมชั่นให้ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะทำการปลอมได้ใกล้เคียงมาก แต่จะไม่มีฉลากภาษาไทย และมีความแตกต่างในการใช้งานจริง จึงอยากฝากถึงผู้บริโภค ให้หาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ หากมีข้อสงสัย หรือมีความผิดปกติ สามารถแจ้งเบาะแสร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 ตลอด 24 ชั่วโมง และอีเมล 1556@fda.moph.go.th รวมถึงอยากให้ผู้ริโภค และผู้ประกอบการ ช่วยเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิด