
“ผบช. ภ.7″สั่งเปิดยุทธการลุยปราบยาเสพติด กลาดล้างอาวุธผิดกฏหมาย พร้อมอาชญากรรมทุกประเภท
สั่งทุกหน่วย ดีเดย์ ระดมกวาดล้างฯ ระหว่างวันที่ 10 ต.ค. – 8 พ.ย.นี้
เมื่อวันจันทร์ ที่ 10 ต.ค. 2565 เวลา 11.00 น.ที่ห้องประชุม ศปก. ชั้น 4 ถ.ข้างวัง ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ภ.7 กล่าวว่า ตามหนังสือ ตร.ด่วนที่สุด ที่ 0007.22/4623 ลง 9 ต.ค. 65 สั่งการให้ทุกหน่วยระดมกวาดล้างอาชญากรรม ระหว่างวันที่ 10 ต.ค. – 8 พ.ย. 65 (30วัน) โดยกำหนดเป้าหมายเน้นความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน วัตถุระเบิด เครื่องกระสุนปืน การจำหน่ายอาวุธปืน วัตถุระเบิด เครื่องกระสุนปืนโดยผิดกฎหมาย (On Ground) และจำหน่ายอาวุธปืน วัตถุระเบิด เครื่องกระสุนปืนผ่านระบบออนไลน์และโซเซียลมีเดียโดยผิดกฎหมาย (Online) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และบุคคลตามหมายจับ นั้น
วันนี้ ตน เป็นประธานในการประชุม “กำหนดแนวทางการปฏิบัติการระดมกวาดล้างอาชญากรรม”โดยมี
พล.ต.ต.บุญญฤทธิ์ รอดมา
รอง ผบช.ภ.7 พล.ต.ต.วรายุทธ สุขวัฒน์ รอง ผบช.ภ.7
พล.ต.ต.ประสพชัย มัตสยะวนิชกูล ผบก.สส.ภ.7 พร้อมด้วย
ผบก.ฯ, รอง ผบก.ฯ, ผกก.ฯ ในสังกัด ภ.7 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ด้วยระบบทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference)
พล.ต.ท.ธนายุตม์ กล่าวอีกว่าได้กำชับในที่ประชุมดังนี้
ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
1.ให้ รอง ผบช.ภ.7 (ปส) และ รอง ผบช.ภ.7 ที่รับผิดชอบพื้นที่ และ ผบก.จว.ฯ ,หน.สภ.ฯ ต้องขับเคลื่อนด้วยตนเอง การค้นหาผู้เสพ ต้องดำเนินการแบบครูแม่ไก่ แนะนำสายตรวจหมู่บ้าน ตำบล หรือ ชมส. หน.หน่วย ต้องเป็นตัวขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน อสม. สาธารณสุข หรือแนวร่วมอื่นๆ ช่วยกันในการค้นหาเอามาลงระบบ เพื่อทราบว่าอันไหนเป็นปัญหา สีเขียว สีเหลือง สีแดง เพื่อหามาตรการในการแก้ไขปัญหาร่วมกับครอบครัวของบุคคลนั้นด้วย นอกจากชุมชนแล้ว ต้องดูในสถานบริการ สถานประกอบการต่างๆ ให้ทำทุกมิติในพื้นที่ตัวเอง เน้นย้ำ หัวหน้าหน่วย ให้มีแผนการสุ่มตรวจสถานบริการและสถานประกอบการตามวงรอบ รวมทั้งแผนปิดล้อมตรวจค้นชุมชนที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยยกระดับความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทั้งผู้ค้ายาเสพติดรายย่อย รายสำคัญ และเครือข่ายยาเสพติด ในรูปแบบฐานข้อมูลยาเสพติดที่สามารถบูรณาการร่วมกันได้
2.เพิ่มความเข้มในการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในพื้นที่ รวมทั้งให้มีการขยายผล และใช้มาตรการทางทรัพย์สินแบบบูรณาการทั้งยึด อายัดทรัพย์คดียาเสพติด การฟอกเงิน ต่อผู้กระทําผิดทุกกรณี
3.ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ในการค้นหาผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการทางจิตในพื้นที่พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูล เพื่อพิจารณาระดับความรุนแรงของอาการ เพื่อนำเข้าบำบัดรักษาโดยเร็ว ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ในสถานพยาบาลยาเสพติดของรัฐ และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของรัฐ (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 65 เป็นต้นไป ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน) ให้ หน.สภ. นำข้อมูลดังกล่าวแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ โดยประสานการปฏิบัติกับผู้นำชุมชน ครอบครัว ญาติ ในการสอดส่องดูแลและวางแผนซักซ้อมยุทธวิธีในการเข้าระงับเหตุเพื่อลดโอกาสการเกิดความสูญเสีย กรณีที่ยังไม่สามารถนำเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาได้ ให้ประสานงานกับผู้นำชุมชนและครอบครัว ญาติ ให้ดูแลและเฝ้าระวังติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ไปก่อเหตุอันตรายต่อผู้อื่น
4.ค้นหา นำผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาโดยสมัครใจ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 114 และบันทึกข้อมูลในระบบชักถามข้อมูลยาเสพติดทุกราย (https://www.nsbqdrugs.com /form.pd) ในระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ ตร.
5.ให้ความสำคัญกับโครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ผู้บังคับบัญชาออกตรวจเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ และให้จัดทำโครงการ NO PLACE FOR DRUG (NPD) โดยต้องเอกซเรย์พื้นที่ยาเสพติดในชุมชนอย่างจริงจัง ไม่ให้มีพื้นที่สำหรับการค้าหรือแพร่ระบาดยาเสพติดในชุมชน โดยมีหลักคิดในการทำงาน คือ “ปฏิบัติการเชิงรุก บุกชุมชน ค้นปัญหา อาสาจัดการ สลายทุกข์ เพิ่มความสุขให้ประชาชน”
6.หากตรวจสอบพบว่าชุมชนใดมีการแพร่ระบาดของยาเสพติดเป็นจำนวนมาก ให้เปิดยุทธการปิดล้อมตรวจค้นยาเสพติด (Task Force) เป็นระยะ
7.ให้ดำเนินการตามโครงการตำรวจสีขาว โดยการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของข้าราชการตำรวจในสังกัด หากตรวจพบให้ดำเนินการทางวินัยและปกครองขั้นเด็ดขาด และหากพบว่าผู้บังคับบัญชามีการปล่อยปละละเลยจะถูกดำเนินการทางวินัยเช่นกัน โดยรายงานผลการดำเนินการ ให้ ภ.7(ผ่าน ศอ.ปส.ภ.7) ทราบภายในวันที่ 20 ต.ค. 65
8.ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับเข้มงวดในการ ติดตาม สอดส่อง ดูแล ควบคุมความประพฤติของผู้ใต้บังคับบัญชา ตามคำสั่งกรมตำรวจ ที่ 1212/2537 ลง 1 ต.ค. 37 เรื่อง มาตรการควบคุมและเสริมสร้างความประพฤติ และวินัยข้าราชการตำรวจ ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเด็ดขาดหากฝ่าฝืนจะต้องดำเนินการทางอาญา วินัย และทางปกครองอย่างเด็ดขาดทุกราย
ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน
มุ่งเน้นไปที่บุคคลผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน แต่มีความประพฤติไม่เรียบร้อย หรือมีพฤติกรรมเป็นภัยต่อสังคม ต้องสืบสวนติดตามพฤติกรรมในเชิงลึก สามารถแจ้งให้นายทะเบียนเพิกถอนใบอนุญาตได้
นอกจากนั้นจะมีการตรวจค้นกลุ่มเสี่ยงเช่น กลุ่มวัยรุ่น เด็กแว้นที่มีพฤติกรรมชอบพกพาอาวุธ ปืนในที่สาธารณะ และชอบยิงปืน นักเลงอันธพาล ที่มีพฤติกรรมก่อความวุ่นวาย ก่อความเดือดร้อน รําคาญ บุคคลที่พกพาอาวุธปืนติดตามผู้มีอิทธิพล ผู้กว้างขวาง ผู้ประมูลรับเหมางานรายใหญ่
บุคคลที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบ ผู้ติดตามทวงหนี้ บุคคลพ้นโทษ บุคคลที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราว ในความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน หรือความผิดอื่นโดยใช้อาวุธปืนในการกระทําความผิด บุคคลที่มีพฤติกรรม หรือลักลอบผลิต จําหน่ายหรือขายอาวุธปืนทางอินเทอร์เน็ต (online) รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยเฉพาะผู้ผลิต ผู้จําหน่าย รายใหญ่ และผู้มีประวัติถูกจับกุมในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซ้ำซาก
ในขณะเดียวกัน จะมีการตรวจค้นจับกุมแหล่งค้า ผลิต ซุกซ่อนอาวุธที่ผิดกฎหมายแหล่งอบายมุข แหล่งมั่วสุม สถานบริการ กําหนดจุดตรวจ จุดสกัด และตั้งด่านตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะ สกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธที่ผิดกฎหมาย ทั้งทางบกและทางน้ำ สุ่มตรวจ ค้นสัมภาระรถโดยสารสาธารณะ สกัดกั้นการลักลอบซื้อขาย นําเข้า และส่งออก อาวุธผิดกฎหมายตามแนวชายแดน การปราบปรามการค้าอาวุธข้ามชาติ
ทั้งนี้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องลงไปขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้สั่งการลงไป รวมทั้งจัดทำโครงการ “ตำรวจสีขาว” สุ่มตรวจปัสสาวะตำรวจทุกนาย ติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมความประพฤติ ของผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเด็ดขาด หากพบการกระทํา ความผิดจะต้องดําเนินการทางกฎหมาย ทางวินัย และทางปกครองอย่างเด็ดขาดทุกราย
หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแส ความผิดเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด อาวุธปืน เครื่องกระสุน หรือวัตถุระเบิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชม. ทั้งนี้ ข้อมูลในการแจ้งจะปิดเป็นความลับ และจะมีเงินสินบนรางวัลให้กับผู้แจ้งในกรณีที่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้
ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.ธนายุตม์ยังได้กล่าวย้ำว่า ได้มีข้อสั่งการดังนี้
1.กำหนดให้ทุกหน่วยระดมกวาดล้างฯ ระหว่างวันที่ 10 ต.ค. – 8 พ.ย.65(30 วัน)โดยกำหนดเป้าหมายเน้นความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน วัตถุระเบิด เครื่องกระสุนปืน การจำหน่ายอาวุธปืน วัตถุระเบิด เครื่องกระสุนปืน โดยผิดกฎหมาย (On Ground) และจำหน่ายอาวุธปืน วัตถุระเบิด เครื่องกระสุนปืน ผ่านระบบออนไลน์และโซเชียลมีเดียโดยผิดกฎหมาย (Online) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และบุคคลตามหมายจับ
2.ให้ศูนย์ปฏิบัติการและควบคุมสั่งการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม (Command and Control Operation Center : CCOC) ทั้งในระดับ บช/ภ. บก/ภ.จว. และ สน/สภ. เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการปฏิบัติ ในลักษณะการบริหารจัดการคดี (Case Management) เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการต่อเป้าหมายเดียวกัน โดยให้หน่วยวางระบบในการประสานงานและส่งต่อข้อมูลให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
3.การควบคุมการปฎิบัติ
3.1 ให้ผู้บังคับบัญชาระดับ บช./ภ. บก./ภ.จว. และ สน./สภ. อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ กวดขันควบคุมการปฏิบัติของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด และเร่งรัดผลการปฏิบัติในพื้นที่รับผิดชอบ
3.2 ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ควบคุม กำกับดูแล การปฏิบัติของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามหลักยุทธวิธีตำรวจและคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจสายงานป้องกันปราบปราม (Standard Operating Procedure : SOP) อย่างเคร่งครัด
4.ให้รายงานผลการปฏิบัติในการระดมกวาดล้างฯ ตามแบบรายงานที่กำหนด (แบบรายงานที่ 1และ2) ให้ ตร. ทราบ (ผ่าน ผอ.สยศ.ตร.) ทุก 10 วัน ในห้วงระดมกวาดล้างฯ ก่อนเวลา 10.00 น. ทาง Email : ccpd_07@hotmail.co.th และไลน์กลุ่ม “แผน ตร.” ดังนี้
4.1 ห้วงที่ 1(10-19 ต.ค.65) รายงานผลการปฏิบัติภายในวันที่ 20 ต.ค.65
4.2 ห้วงที่ 2(20-29 ต.ค.65) รายงานผลการปฏิบัติภายในวันที่ 30 ต.ค.66
4.3ห้วงที่ 3(30 ต.ค. – 8 พ.ย.65) รายงานผลการปฏิบัติภายในวันที่ 9 พ.ย.65
4.4 รายงานผลการปฏิบัติในภาพรวม ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. – 8 พ.ย.65 (30 วัน) ภายในวันที่ 9 พ.ย.65
5.ให้ทุกหน่วยประสานและสนับสนุนการปฏิบัติซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด กรณีมีผลการจับกุม รายสำคัญ มีของกลางเป็นจำนวนมาก หรือเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ให้จัดแถลงข่าวในพื้นที่ทันที
6.กรณีที่มีเหตุสำคัญเร่งด่วนให้ใช้ช่องทาง ศปก.ของหน่วย รายงานให้ ศปก.ตร. ทราบ เพื่อรายงาน ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่รับผิดชอบ และ ผอ.ศปอส.ตร. (กรณีเหตุสำคัญเร่งด่วนความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน อาวุธสงครามที่กระทำความผิดผ่าน ระบบออนไลน์และโซเชียลมีเดียต่างๆ) ผอ.สอ.ปส.ตร. (กรณีเหตุสำคัญเร่งด่วนความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด) “ผบช.ภ.7 กล่าว”