
ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อยื่นหนังสือ ตร. ทวงความคืบหน้ากรณี สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากการสลายม๊อบหยุดเอเปค
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎรหยุด APEC” ได้พยายามเดินขบวนไปยังสถานที่จัดการประชุม APEC ซึ่งต่อมาเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงสื่อมวลชนภาคสนามจำนวนหนึ่ง ซึ่งหลังจากเหตุดังกล่าว ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ คลิปวิดิโอ และคำบอกเล่าของสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บ ได้ความว่า มีผู้สื่อข่าวและช่างภาพอย่างน้อย 4 คน ได้รับบาดเจ็บจากกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
จนถึง ณ วันนี้ผ่านมา 1 เดือนแล้ว นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ได้เป็นตัวแทนในการมายื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติในเรื่องดังกล่าว ว่ามีการตรวจสอบไปถึงไหนแล้ว มีการเยียวยากับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ และมีการชี้แจงกับสังคมอย่างไร รวมทั้งอยากจะให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวด้วย
ทางด้านของพล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. ได้มารับหนังสือ และกล่าวในเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้แล้วซึ่งจะนำข้อมูลมาประกอบและสรุปโดยเร็วเพื่อที่จะแจ้งกลับไปยังผู้ที่ยื่นหนังสือและให้ความกระจ่างแก่ประชาชนด้วย ถ้าหากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบต่อไป
ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้นิ่งเฉย เพราะได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว คาดว่าน่าจะใกล้สรุปผลการปฏิบัติได้แล้ว ส่วนการเยียวยาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการทำงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งก็ได้มีการสอบถาม สอบปากคำไว้เกือบครบทุกคนแล้ว แต่หากว่ามีใครที่จะมาให้ปากคำเพิ่มเติมทางเจ้าหน้าที่ก็ยินดี
นอกจากนี้ ทางผบ.ตร. ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อวางกรอบการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับสื่อมวลชนในช่วงที่มีการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมในลักษณะใด เพื่อที่ว่าถ้าหากมีการกระทบกระทั่งในภายภาคหน้า จะได้มีการซักซ้อมแนวทางการทำงานร่วมกัน และจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์การบาดเจ็บอย่างที่ผ่านมาอีก ที้งนี้คาดว่าภายในต้นปีหน้าจะมีการพูดคุยกันอย่างจริงจังถึงภาพรวมในแนวทางการทำงาน และจะมีการเชิญสมาคมสื่อทุกสมาคมที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยด้วย อย่างไรก็ตามพล.ต.ต.อาชยน ย้ำว่าเข้าใจการทำงานของผู้สื่อข่าวว่าจะต้องมีการเก็บภาพเหตุการณ์ เพื่อสะท้อนให้ประชาขนได้รับรู้ จึงต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่เสี่ยง แต่ก็ต้องหาแนวทางที่มีความเหมาะสมและปลอดภัย ซึ่งคงต้องมาคุยกันในเร็วๆนี้
//////