กรณีเกิดเหตุสะเทือนขวัญ เมื่อคืนนี้ เวลา 02.10 น.วันที่ 23 สิงหาคมพล.ต.ต.สมบูรณ์ เทียนขาว ผู้บังคับการกองบังคับการสายตรวจและปฎิบัติการพิเศษ(ผบก.สปพ.) พ.ต.อ.ปิยรัช สุภารัตน์ ผกก.สายตรวจ บก.สปพ. พ.ต.อ.ฤทธิเดช อนันตโสภณ ผกก.ต่อต้านการก่อการร้าย(อรินทราช)บก.สปพ.รับแจ้งชายคลั่ง “จี้ตัวประกัน” บนรถเมล์สาย8
จึงนำกำลังอรินทราช 26 เข้าระงับเหตุก่อบุกควบคุมตัว ชาย อายุ 23 ปี พร้อมของกลางอาวุธลักษณะคล้ายปืนพกสั้น สีดำ 1 กระบอก บริเวณริมถนนแฮปปี้แลนด์สาย 1 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
พล.ต.ต.สมบูรณ์ เปิดเผยว่า ก่อนจับกุม บก.สปพ. รับแจ้งจากศูนย์วิทยุ สน.ลาดพร้าว ว่าเมื่อวันที่ 22 ส.ค. เวลาประมาณ 21.00 น. มีชายไทยไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริง จี้ตัวประกันบนรถประจำทางสาย 8 ขณะที่ รถประจำทางคันดังกล่าวเดินทางอยู่บริเวณ กลาง ถ.แฮปปี้แลนด์สาย 1 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
โดยทาง พล.ต.ท.ภัคพงษ์ พงศ์เภตรา ผบช.น. พล.ต.ต.สำราญ นวลมา รองผบช.น.สั่งการให้ บก.สปพ.นำหน่วยอรินทราช เข้าควบคุมสถานการณ์ โดยทราบว่า คนร้ายขึ้นรถประจำทางบริเวณอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อมาถึงบริเวณแยกแฮปปี้แลนด์ คนร้ายนำวัตถุคล้ายอาวุธปืนขึ้นมาแสดง และสั่งให้ขับรถวนไปส่งคนร้ายที่อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อีกครั้ง ผู้ขับขี่รถโดยสารประจำทาง จึงออกอุบายว่าขอเอารถไปเข้าอู่ก่อน เนื่องจากเป็นระเบียบของรถประจำทาง และใช้ช่วงคนร้ายเผลอหลบหนีออกมาได้ แต่ในรถประจำทางยังคงเหลือ น.ส.นวลพรรณ ม่วงจีน พนักงานเก็บค่าโดยสาร
ภายหลัง ชุดได้เข้าเจรจากับผู้ก่อเหตุ โดยทราบว่า อาศัยอยู่กับแม่ที่แฟลตดินแดง เกิดความเครียดและแม่ป่วย รวมทั้งตกงานมา 4-5 เดือนแล้ว ก่อนจะใช้ยุทธวิธีเข้าชาร์จตัวไว้ได้ด้วยความปลอดภัย
สำหรับ หน่วยอรินทราช 26 เป็นหน่วยตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษ (Special Weapons And Tactics : S.W.A.T.) มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการพิเศษต่อภัยคุกคามที่เป็นอาชญากรรม และการก่อการร้าย ด้วยการแย่งชิงตัวประกัน การจับกุม ฯลฯ ตามแนว “การบริหารวิกฤตการณ์” (Crisis Management) โดยมีพื้นที่รับผิดชอบในเมืองหลวง และปริมณฑล
ซึ่งกรมตำรวจ ในอดีต จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ จึงได้จัดตั้งหน่วยนเรศวร 261 และอรินทราช 26 (โดยชื่อมาจาก อริ = ข้าศึก, ศัตรู + อินท = จอม, ผู้เป็นใหญ่ + ราช = พระราชา + 26 = โดยก่อตั้ง พ.ศ. 2526)
ปัจจุบัน อรินทราช 26 อยู่ในสังกัด กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) และขึ้นตรงกับ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น)